ศุขปรีดา พนมยงค์ (5 กันยายน พ.ศ. 2478 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553) เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง และนักเขียนอิสระ มีผลงานเขียน อาทิ ชีวประวัติผู้นำการต่อสู้กู้เอกราชเวียดนาม "โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ" และ "เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง" เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญและมีสัมพันธ์อันดียิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จากการที่ได้เคยติดตามบิดาไปยังประเทศเหล่านั้น ศุขปรีดาใช้ชีวิตการทำงานอยู่ต่างประเทศหลายสิบปี ก่อนจะกลับมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553
นายศุขปรีดา พนมยงค์ เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม: ณ ป้อมเพชร์) เกิดที่บ้านพูนศุข "ป้อมเพชรนิคม" ถนนสีลม เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2478 มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา รวม 6 คน คือ
เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจับชั้นมธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หลังจากนั้นได้ติดตามบุพการีไปพำนักที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่ออายุ 20 ปีเศษ ได้ศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ภาควิชาภาษาอังกฤษ จาก มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น นครกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง นายศุขปรีดาเป็นผู้ที่ชอบศึกษาด้านภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะศึกษาหรือทำงานการในประเทศใด ก็สามารถพูดอ่านเขียนภาษาของประเทศนั้นๆได้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีนกลาง เมื่อทำงานในประเทศลาวและเวียดนาม ก็พอจะพูดภาษาลาวและเวียดนามได้
นายศุขปรีดา พนมยงค์ ได้สมรสกับ น.ส. จีรวรรณ วรดิลก ซึ่งเป็นน้องสาวของนายสุวัฒน์ วรดิลก และ นายทวีป วรดิลก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีบุตรธิดาสองคนคือ
ตลอดเวลาที่ทำงานประจำ นายศุขปรีดาได้เขียนบทความต่างๆ มาลงหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยโดยใช้นามปากกาบ้าง ใช้ชื่อจริงบ้าง โดยเฉพาะเรื่องราวทางเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง
ศุขปรีดาได้เขียนประวัติ โฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศเวียดนาม ส่งไปลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 และรวมพิมพ์เล่มเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ในชื่อเล่มที่ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือบริษัท มติชน จำกัด เป็นผู้ตั้งให้ว่า "โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ" โดยผู้เขียนเผยความตั้งใจว่า "...เรียบเรียงขึ้นจากแรงบันดาลใจที่มีต่อภารกิจในการกู้อิสรภาพเวียดนามของประธานฯโฮจิมินห์ ประกอบกับความประทับใจที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสพบกับตัวท่านเมื่อ 45 ปีที่แล้ว..."
หนังสือ "โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ" ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านในประเทศไทย โดยพิมพ์ซ้ำภายในเวลาเพียง 2 เดือน จากนั้นศุขปรีดาได้เริ่มลงมือเขียน "หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์" พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ท่านใช้เวลาในการเรียบเรียงและเขียนเป็นเวลาสองปี โดยเดินทางไปสัมภาษณ์นายพลหวอ เหวียน ย้าบด้วยตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่มีโอกาสได้พบ หวอ เหวียน ย้าบ ถึงห้าครั้งด้วยกัน ในหนังสือเริ่มต้นฉากชีวิตของหวอ เหวียน ย้าบ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงปัจจุบันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และมีอายุ 98 ปี
ศุขปรีดารู้จักกับนายพลหวอ เหวียน ย้าบ ครั้งแรกเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ (บิดา) ได้รับเชิญจากประธานฯโฮจิมินห์ให้ไปเยี่ยมราวๆ ปี พ.ศ. 2505 โดยตอนนั้นนายปรีดีได้รับการต้อนรับในฐานะผู้บริหารของต่างประเทศ และโฮจิมินห์ได้แนะนำให้รู้จักกับหวอเหวียนย้าบ
เนื่องจากศุขปรีดาได้มีโอกาสติดตามท่านปรีดีผู้เป็นบิดาไปประเทศเวียดนามหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้มีโอกาสพบและอยู่ในวงสนทนาระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับ เจ้าสุพานุวง ประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ฮานอย นอกจากได้ฟังได้เห็นและสัมผัสรับรู้ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังฉากการรบในยุคสงครามเย็นแล้ว ท่านยังศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศแถบอินโดจีนด้วยความกระหายใคร่รู้ หลังปิดเล่มเรื่อง "หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์" จึงลงมือเขียนเรื่อง "รำลึก 100 ปีเจ้าชายแดง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ศุขปรีดาเคยกล่าวว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่แท้จริงต้องเริ่มที่ประชาชน..."
วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นายศุขปรีดา พนมยงค์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก่อนที่งานเขียนชิ้นสุดท้าย "เมื่อสยามเข้าสู่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475" จะเสร็จสมบูรณ์